งานแบบก่อนราฟาเอล ของ จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล

"โอฟิเลีย" (ค.ศ. 1852)"เด็กหญิงตาบอด" (ค.ศ. 1856)

ภาพ "พระเยซูในโรงช่างของพ่อ" (Christ in the House of His Parents) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1850 เป็นภาพที่สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง เพราะมิเลวาดพระเยซูอย่างคนชั้นแรงงานที่กำลังทำงานในโรงช่างไม้ที่เลอะเทอะของพ่อ งานชิ้นต่อ ๆ มาก็สร้างความขัดแย้งเช่นกันแต่ไม่มีภาพใดเท่ากับภาพนี้ แต่มิเลมาได้รับความสำเร็จและความนิยมอย่างแพร่หลายในภาพ "อูเกอโนท์" (A Huguenot) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1852 ซึ่งเป็นภาพของคู่หนุ่มสาวที่จำจะต้องจากกันเพราะความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งกลายมาเป็นหัวใจของหัวเรื่องของภาพอีกหลายภาพที่มิเลเขียน

งานสมัยต้น ๆ ของมิเลเต็มไปด้วยรายละเอียดและมักจะเน้นความงามและความซับซ้อนของธรรมชาติของโลก ในภาพเช่น "โอฟิเลีย" (Ophelia) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1852 มิเลสร้างภาพที่ผสมผสานแน่นไปด้วยรายละเอียดของสิ่งธรรมชาติต่าง ๆ ที่ได้รับคำบรรยายว่าเป็นเขียนภาพแบบ "จิตรกรรมสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ" (pictorial eco-system)

ลักษณะการเขียนแบบนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักวิจารณ์ศิลป์จอห์น รัสคิน ผู้เป็นผู้ปกป้องศิลปะแบบก่อนราฟาเอลจากผู้ต่อต้าน ความสัมพันธ์กับรัสคินทำให้มิเลได้ทำความรู้จักกับเอฟฟี เกรย์ (Effie Gray) ภรรยาของรัสคิน หลังจากที่ได้พบกันเอฟฟีก็มานั่งเป็นแบบให้ในภาพ "คำสั่งปล่อย" (The Order of Release) ในขณะที่เขียนภาพสองคนก็ตกหลุมรักกัน แม้ว่าเอฟฟีจะแต่งงานกับรัสคินมาหลายปีแต่ทั้งสองก็ยังมิได้มีความสัมพันธ์กันฉันสามีภรรยา บิดามารดาของเอฟฟีสังหรณ์ว่ามีอะไรที่ไม่ปกติจึงฟ้องขอให้การแต่งงานเป็นโมฆะ (annulment) ในปี ค.ศ. 1856 หลังจากที่การแต่งงานกับรัสคินเป็นโมฆะ เอฟฟีกับมิเลก็สมรสกันและมีบุตรธิดาด้วยกันแปดคนรวมทั้ง จอห์น กิลล์ มิเล (John Guille Millais) นักธรรมชาติวิทยาผู้มีชื่อเสียงและจิตรกรเขียนภาพชีวิตป่า

งานสมัยหลัง

"วัยเด็กของรอลี " (ค.ศ. 1871)

หลังจากการแต่งงานแล้วมิเลก็เริ่มเขียนงานแบบที่กว้างออกไปกว่าเดิม ซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์โดยรัสคินว่าเป็นงานแบบ "หายนะ" เป็นที่โต้เถียงกันถึงสาเหตุของการเปลี่ยนลักษณะการเขียนว่าอาจจะเป็นผลมาจากการที่มิเลต้องการจะเพิ่มจำนวนผลงานเพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน วิลเลียม มอร์ริสผู้ไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจกล่าวหามิเลว่า "ขายตัว" เพื่อแสวงหาชื่อเสียงและความร่ำรวย แต่ผู้ที่ชื่นชมชี้ให้เห็นความสัมพันธ์กับงานของเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์ และ อัลเบิร์ต โจเซฟ มัวร์ (Albert Joseph Moore) และอิทธิพลต่อจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์ ตัวมิเลเองก็โต้ว่าเมื่อเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองในฐานะศิลปินเพิ่มขึ้น ก็จึงได้เริ่มเขียนภาพที่มีลักษณะที่กล้าแข็งขึ้น ในบทความ ความคิดเกี่ยวกับศิลปะของปัจจุบัน (Thoughts on our art of Today) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1888 มิเลให้คำแนะนำว่าศิลปินควรจะทำตามตัวอย่างของเดียโก เบลัซเกซและแรมบรังด์

"เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและริชาร์ดในหอคอยแห่งลอนดอน" (ค.ศ. 1878)

ภาพเขียนเช่น "ค่ำวันนักบุญแอ็กเนส" (The Eve of St. Agnes) และ "คนละเมอ" (The Somnambulist) เป็นภาพที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่ามิเลมีการติดต่อกับวิสเลอร์ซึ่งเป็นผู้ที่มิเลสนับสนุนอย่างขันแข็ง ภาพเขียนอื่น ๆ ที่เขียนในปลายคริสต์ทศวรรษ 1850 และ 1860 ตีความหมายได้ว่าเริ่มจะมีลักษณะที่ออกไปทางลัทธิสุนทรียนิยม (Aesthetic Movement) ภาพหลายภาพใช้การจัดสีที่เป็นสัญลักษณ์แทนที่จะเป็นการแสดงเรื่องราวในเนื้อหาของภาพโดยตรง ๆ

งานที่เขียนต่อมาจากคริสต์ทศวรรษ 1870 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่ามิเลหันไปหาศิลปินชั้นครูก่อนหน้านั้นเช่นโจชัว เรย์โนลด์ส หรือ เดียโก เบลัซเกซ ภาพในช่วงระยะนี้เป็นจิตรกรรมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่นงานชิ้นสำคัญ "เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและริชาร์ดในหอคอยแห่งลอนดอน" (Princes in the Tower) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1878, "ทางผ่านตะวันตกเฉียงเหนือ" (The Northwest Passage) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1874 และ "วัยเด็กของรอลี" (Boyhood of Raleigh) ในปี ค.ศ. 1871 ที่แสดงให้เห็นความสนใจของมิเลในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับอังกฤษและการขยายจักรวรรดิ นอกจากนั้นความนิยมในงานเขียนของมิเลก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อเริ่มเขียนภาพเด็กโดยเฉพาะภาพ "ฟองสบู่" (ค.ศ. 1886)-ซึ่งอาจจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะเป็นภาพที่ใช้ในการโฆษณาสบู่แพร์ส- และภาพ "เชอร์รีสุก" (Cherry Ripe) โครงการสุดท้ายของมิเลในปี ค.ศ. 1896 คือการเขียนภาพ "การสำรวจครั้งสุดท้าย" (The Last Trek) ซึ่งเป็นภาพที่เขียนจากหนังสือของลูกชายที่เป็นภาพชายผิวขาวนอนเหยียดยาวตายในทุ่งแอฟริกา โดยมีคนผิวดำสองคนนั่งมองอย่างไม่ยินดียินร้ายอยู่ข้าง ๆ

แหล่งที่มา

WikiPedia: จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล http://farm3.static.flickr.com/2278/1807198227_0cd... http://www.millais.info/ http://www.all-art.org/neoclasscism/millais1.html http://www.artrenewal.org/asp/database/art.asp?aid... http://www.liverpoolmuseums.org.uk/online/featured... http://www.tate.org.uk/ophelia/ http://www.tate.org.uk/servlet/ViewWork?cgroupid=9... http://www.tate.org.uk/tateetc/issue11/familyaffai... http://www.tate.org.uk/tateetc/issue11/poeticencou...